พื้นที่ศึกษาโครงการในระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางของแนวเส้นทางโครงการ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื้อที่ประมาณ 2,104 ไร่ และอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าพรุ เนื้อที่ประมาณ 830 ไร่ รายละเอียดแสดงดังรูปที่ 1 ซึ่งการเข้าไปกระทำการศึกษาในพื้นที่จะต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเข้ากระทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมีกระบวนการในการยื่นคำขออนุญาตฯ แสดงดังรูปที่ 2
พื้นที่โครงการฯบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำบางนรา แปลงที่ 2 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2507) ออกความตามในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 รายละเอียดแสดงดังรูปที่ 3 ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการศึกษาโครงการในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามแนวทางและขั้นตอนการขออนุญาตเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ โดยขั้นตอนในการยื่นคำขออนุญาตฯ แสดงดังรูปที่ 4
ผลการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแนวเส้นทางโครงการ และในระยะ 2 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดดังนี้
1) แนวเส้นทางโครงการ มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Sites) ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 จำนวน 1 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมแด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) แสดงดังรูปที่ 5
2) พื้นที่ศึกษาในระยะ 2 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำโก-ลก และคลองริโก๋